ฉลากผลิตภัณฑ์หมุนเวียน
ฉลากผลิตภัณฑ์หมุนเวียน เกิดขึ้นจากการดำเนินโครงการวิจัยเรื่อง “การพัฒนาระบบฉลากสิ่งแวดล้อมสำหรับผลิตภัณฑ์หมุนเวียนอันเป็นการส่งเสริมการหมุนเวียนวัสดุเพื่อขับเคลื่อนนโยบายเศรษฐกิจหมุนเวียนของประเทศไทย” ซึ่งพัฒนาขึ้นภายใต้ความร่วมมือทางวิชาการของภาครัฐ ได้แก่ ศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านกลยุทธ์ธุรกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (วีกรีน) คณะสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และมูลนิธิสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย โดยมีหน่วยงานร่วมสนับสนุน คือ สำนักงานคณะกรรมการการมาตรฐานแห่งชาติ (National Standardization Council: NSC) สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม และ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ผ่านการสนับสนุนทุนวิจัยหลักจากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) ด้านเศรษฐกิจหมุนเวียน และทุนสนับสนุนบางส่วนจากโครงการความร่วมมือภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม เพื่อจัดการพลาสติกและขยะอย่างยั่งยืน (กลุ่ม PPP Plastic) มุ่งเป้าในการพัฒนาข้อกำหนดและระบบฉลากสิ่งแวดล้อมสำหรับผลิตภัณฑ์หมุนเวียนของประเทศไทย และ เสนอข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเรื่องฉลากสิ่งแวดล้อมสำหรับผลิตภัณฑ์หมุนเวียน เพื่อเป็นกลไกขับเคลื่อนและผลักดันนโยบายเศรษฐกิจหมุนเวียนของประเทศไทยให้เป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น อันเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากรตลอดห่วงโซ่คุณค่า ลดปริมาณของเสียจากระบบ เพื่อรักษาฐานทรัพยากรของประเทศและลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมทุกด้านในภาพรวม
ขอบเขต
ข้อกําหนดฉลากผลิตภัณฑ์หมุนเวียนนี้ ประยุกต์ใช้กับผลิตภัณฑ์หมุนเวียนทุกประเภท ทั้งที่เป็นผลิตภัณฑ์จากธุรกิจการซื้อขายระหว่างเจ้าของธุรกิจ เรียก ผลิตภัณฑ์ Business-to-Business (B2B) และผลิตภัณฑ์จากธุรกิจการซื้อขายระหว่างเจ้าของธุรกิจกับผู้บริโภค เรียก ผลิตภัณฑ์ Business-to-Consumer (B2C)โดยในระยะแรกนี้ มุ่งเน้นผลิตภัณฑ์จากกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายหลัก คือ
1) Agri-Food
2) Building materials
3) Plastic
4) Packaging ตามโมเดลเศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน เพื่อให้สอดคล้องตามเป้าหมายของโมเดลเศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน รวมทั้ง ผลิตภัณฑ์ที่กําลังได้รับความสนใจ
5) Fashion/Lifestyle ทั้งนี้ ยังไม่พิจารณาสินค้าประเภทบริการที่มีการออกแบบธุรกิจภายใต้แนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน
เศรษฐกิจหมุนเวียนคืออะไร (Circular Economy Introduction) https://youtu.be/oYjL9nXisdQ?si=yvJblLWQGqSo_VHK